การถือศีลอดจะช่วยเพิ่มพลังสมอง

305 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การถือศีลอดจะช่วยเพิ่มพลังสมอง

การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนของทุก ๆ ปีนับเป็นหน้าที่เหนือมุสลิม อีกทั้งยังส่งเสริมให้ถือศีลอดตลอดปีเป็นระยะ ๆ เช่น 3 วันต่อเดือน ในช่วงกลางของเดือนตามจันทรคติ หรือ 9 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺเป็นต้น ..
.
วันนี้วิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการถือศีลอดได้ก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ไม่เพียงเฉพาะต่อร่างกายเท่านั้นแต่รวมไปถึงสมองอีกด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคความเสื่อมของระบบประสาทของการเสื่อมสภาพ เช่น โรคอัล-ไซเมอร์ (Alzheimer)
รายงานของสมาคมโรคอัลไซเมอร์แห่งอเมริการะบุว่าภายในปี ค.ศ.2050 ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคอัล-ไซเมอร์เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 5.2 ล้านคน ในวันนี้กลายเป็น 13.8 ล้านคน
.
นักวิจัยค้นพบว่าอายุขัยและความสามารถทางจิตของสัตว์ทดลองจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เมื่อมันอยู่ในช่วงเวลาที่อดอาหาร ..
.
ดร. มาร์ค แมทสัน หัวหน้าห้องปฏิบัติการประสาทวิทยาแห่งสถาบันผู้สูงอายุและศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ได้ทำการวิจัยในประเด็นผลของการกำจัดพลังงานที่มีต่อสมอง
พวกเขาค้นพบว่าการถือศีลอดสามารถชะลอการสะสมของแอมีลอยด์ (amyloids - สารโปรตีนที่ผิดปกติชนิดหนึ่ง) ในสมองของหนูทดลอง โดยการจำกัดการใช้พลังงานอย่างฉับพลัน และการสะสมของแอมีลอยด์เหล่านี้ในสมองมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ 
.
นับว่าเป็นความจริงสำหรับมนุษย์เช่นเดียวกัน และหนึ่งในวิธีการที่ดีทีสุดในการลดปริมาณอาหารคือการถือศีลอดนั่นเอง
.
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นักคิดและนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่หลายคนได้อธิบายถึงผลของการมีสุขภาพดีในการถือศีลอด เพลโต ได้กล่าวว่า "ฉันอดเพื่อประสิทธิภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น"
.
ฟิลลิปพัส แพราเซลซัส (Philippus Paracelsus) เป็นบิดาหนึ่งในสามของทางการแพทย์ตะวันตกกล่าวว่า “การถือศีลอดนั้น เป็นการรักษาโรค เป็นการแพทย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด” 
.
และคุณอาจเคยได้ยินชาวอียิปต์โบราณกล่าวว่า "มนุษย์พึ่งพิงหนึ่งในสี่จากสิ่งที่พวกเขารับประทาน อีกสามส่วนที่เหลือพึ่งพิงแพทย์ของพวกเขา"
.
ประโยชน์ทางสุขภาพจำนวนมากของการถือศีลอดนั้นได้รับการพิสูจน์จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รวมถึงการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และความบกพร่องทางสติปัญญาตามอายุ การถือศีลอดจะช่วยลดการอักเสบและภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (oxidative stress – โรคเสื่อมเรื้อรัง) ในร่างกายและยังช่วยเผาผลาญไขมันอีกด้วย
.
นักวิจัยและผู้รณรงค์ด้านการคุ้มครองสุขภาพแนะนำรูปแบบการอดอาหารที่แตกต่างกันออกไป ข้อเสนอแนะหนึ่งคือ จะต้องอดอาหารในช่วงกลางวันเป็นเวลาสองวันต่อวันสัปดาห์พร้อมทั้งรับประทานอาหารเบา ๆ ในช่วงละศีลอด
.
ถ้าหากว่าเราพิจารณาไปยังหะดีษของท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) เราจะเห็นว่า ท่านนบีนั้นเคยถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสบดีในทุก ๆ สัปดาห์ และในช่วงเวลานั้นเองท่านนบีไม่ได้มีอาหารมากมายในการละศีลอด มีเพียงแค่อินทผลัมและนมเท่านั้น
.
การถือศีลอดจึงช่วยเพิ่มพลังสมองได้อย่างไร? ทำไมสัตว์ทดลองทำงานได้ดีขึ้นเมื่อทำการทดสอบหน่วยความจำตอนที่มันกำลังอดอาหาร?
ดร. มาร์ค แม็ทสันอธิบายว่าการถือศีลอดเป็นความท้าทายต่อสมอง สมองตอบสนองต่อความท้าทายของการอดอาหาร โดยการกระตุ้นวิถีของการตอบสนองต่อการปรับตัวที่ช่วยให้สมองสามารถรับมือไว้ได้ ซึ่งการขาดพลังงานในร่างกายนั้นจะทำให้วงจรในเส้นประสาทมีความตื่นตัวมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นในการทำงานของเซลล์ประสาทนี้จะช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีขึ้นตามอายุขัย …
.
การถือศีลอดจะช่วยกระตุ้นการผลิต neurotrophic factors (สารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับประสาทสมองตัวหนึ่ง) ในสมอง สารเคมีเหล่านี้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและส่งเสริมการก่อตัวของการเชื่อมต่อเส้นประสาทในสมอง การถือศีลอดยังสามารถช่วยเพิ่มการผลิตเซลล์ประสาทใหม่ ๆ จากเซลล์ต้นกำเนิดอีกด้วย …
.
ผ่านกลไกเหล่านี้ จะเห็นว่าการถือศีลอดสามารถปรับปรุงความจำและความสามารถในการเรียนรู้ให้ดีขึ้น การถือศีลอดนั้นก็เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การถือศีลอดนั้นก็เพื่อรางวัลการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ตะอาลา
.
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้