เกี่ยวกับเรา
หนึ่งในภารกิจหลักของรัฐบาลคือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560- 2564) ขึ้น โดยในยุทธศาสตร์ที่ 3 นั้นได้เน้นในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน รายได้หลักที่ใช้ในการพัฒนาประเทศโดยส่วนใหญ่มาจากภาษีประชาชน รายได้ที่สำคัญได้จากการส่งออกสินค้าและบริการสู่ตลาดต่างประเทศ จากการท่องเที่ยว จากธุรกิจการค้าภายในประเทศและด้านอื่นๆ พบว่าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลต่างมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ทั้งสิ้น โดยตลาดฮาลาลนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากประชากรมุสลิมในโลกที่มีสูงถึง 1,800 ล้านคนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก กระจายใน 148 ประเทศ หนาแน่นใน 57 ประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศโอไอซี (Organization of Islamic Conferences) นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์งานด้านฮาลาลตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามกับงานด้านสุขภาวะ รวมถึงกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตามแนวทางชารีอะห์ (ศาสนา) รับรองวิทยาศาสตร์รองรับ อันเป็นการส่งเสริมให้สถานประกอบการได้มีการเฝ้าระวังกระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่ออกสู่ตลาดมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการแสดงให้เห็นศักยภาพในการรับรองฮาลาลจากองค์กรศาสนาร่วมกับการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลมางประยุกต์ใช้กับงานด้านสุขภาวะ อันจะส่งผลต่อความปลอดภัยทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณของผู้บริโภคมุสลิมและมิใช่มุสลิม องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งมักไม่ได้กล่าวถึง คือเรื่องสุขภาพและสุขลักษณะผู้ประกอบการและบริการจะต้องมีความตะหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น