กฏเกณฑ์เกี่ยวกับกัญชา เห็ดขี้ควาย (psilocybin mushrooms) ยากล่อมประสาทเมสคาลีน(mescaline) และอื่นๆ (17/6/62)

293 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฏเกณฑ์เกี่ยวกับกัญชา เห็ดขี้ควาย (psilocybin mushrooms) ยากล่อมประสาทเมสคาลีน(mescaline) และอื่นๆ (17/6/62)

.............................................................................................
:: [คำถาม] ::
ยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอนเช่น กัญชา เห็ดขี้ควาย(Psilocybin mushrooms) ยาแอลเอสดี(LSD) และยากล่อมประสาทเมสคาลีนเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่ในหลักการอิสลาม ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าหนึ่งในตัวยาเหล่านี้ทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เจ็บป่วย ตรงกันข้ามกลับมีผลสะท้อนในทางที่ดีสำหรับการใช้ยาเหล่านี้ เช่นเกิดความรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ การเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และบางกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาโดยหันเข้ารับอิสลาม
.
:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
.
กัญชาถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการมึนเมา ได้มาจากต้นกัญชา(Cannabis indica)ซึ่งเป็นพืชที่ก่อให้เกิดการมึนเมา ดังนั้นบทบัญญัติที่มีต่อมันคือหะรอม(ต้องห้าม) ตามที่เราได้เคยอธิบายรายละเอียดและแจกแจงหลักฐานมาแล้ว
สำหรับเมสคาลีน(mescaline)ที่เป็นแคบซูลนั้นเป็นสารที่ได้มาโดยการสกัดจากต้นกระบองเพชรชนิดหนึ่ง ทางตอนเหนือของแม็กซิโกจะรู้จักกันในชื่อพิโยตี้(peyote) ถือว่าเป็นสารเสพติดมึนเมาทำให้เกิดภาพหลอนและมองเห็นภาพเป็นสีสันต่างๆ
.
ซิลโลไซบิน(Psilocybin)เป็นสารสกัดที่ได้มาจากเห็ดบางชนิด เช่นเห็ดขี้ควายแม็กซิโก(the Mexican psilocybin mushroom) นับเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งซึ่งมีโทษต่อร่างกายที่รุนแรงยิ่งกว่าเมสคาลีน
.
ในส่วนของยา แอลเอสดี(LSD)ที่ท่านกล่าวถึงนั้นเป็นชื่อย่อของ lysergic acid diethylamide มีการสังเคราะห์ครั้งแรกในบริษัทยาของสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปีพ.ศ.2481 โดยเภสัชกรที่ชือ อัลเบิร์ต ฮอฟมานน์(Albert Hofmann) และนำมาแบ่งเป็นไมโครกรัมเนื่องจากมีความรุนแรงมากที่สุดในกลุ่มยาหลอนประสาท ต่อมายาชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในปีพ.ศ. 2509 และถูกจัดเป็นยาเสพติดผิดกฏหมายอันเนื่องมาจากผลเสียที่รุนแรงเมื่อนำมาใช้ เช่นจิตตกถึงขั้นทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต
.
สิ่งที่กล่าวถึงในคำถามเกี่ยวกับยาเหล่านี้ว่าไม่เป็นอันตรายนั้น คำกล่าวนี้จำเป็นจะต้องปฏิเสธ เพราะในความเป็นจริงพวกมันสร้างความเสียหายทั้งต่อจิตใจและร่างกาย เพราะทั้งซิลโลไซบิน เมสคาลีน และแอลเอสดีล้วนเป็นสารเสพติดหลอนประสาทซึ่งส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบความคิด อารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ มันจะให้เกิดภาพหลอน สับสนทางความคิด ประสาทหลอนทางหูและการมองเห็น เกิดความเฉื่อยชาและโรคจิตเภท ความสามารถในการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่เสพสารเสพติดเหล่านี้บางครั้งก็หัวเราะออกมาโดยไม่มีเหตุผลใดๆ
อาการที่พบของผู้ที่เสพยาเหล่านี้อาจรวมไปถึงการสูญเสียความรู้สึกที่ถูกต้องต่อเวลาและสถานที่ และการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาอาจเข้าใจไปว่าเวลาหนึ่งนาทีนั้นยาวนานจนถึงนาทีสุดท้ายของชิวิต เขาอาจมองเห็นวัตถุที่ตั้งนิ่งราวกับว่ามันกำลังเคลื่อนเข้ามาหาเขาหรือเคลื่อนหนึห่างจากเขา
นอกจากนั้นแล้วยังเกิดอาการกับร่างกายเช่นอาการคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมากผิดปกติ หน้าซีด รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็วและอื่นๆ
.
จากที่กล่าวมา สารเสพติดทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม)เนื่องจากอันตรายของมันที่เกิดกับร่างกายของผู้เสพ ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)กล่าวว่า "จะต้องไม่ทำอันตรายตนเอง และจะต้องไม่ทำอันตรายระหว่างกัน" บันทึกโดยอิมามอะหมัด ในอัลมุสนัด(2865) อิบนุมาญะฮ์(2341)และชัยค์อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีฮ์
.
ถ้าเราคิดว่าอันตรายของยาเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด มันก็เพียงพอที่จะไม่อนุมัติให้มาเสพได้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่ามันทำให้เกิดการมึนเมาและทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งเหตุผลนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ยาเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)กล่าวว่า "ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมานั้นคือ ค็อมร์ และทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมานั้นหะรอม ใครก็ตามที่ดื่มเหล้าบนโลกนี้และเสียชิวิตในสภาพที่ติดเหล้าและไม่ได้เสียใจกลับเนื้อกลับตัว เขาจะไม่ได้ดื่มมันในวันโลกหน้า" รายงานโดยอัลบุคอรีย์(5575)และมุสลิม(2003)
.
ในความเป็นจริงแม้เราจะคิดว่าผู้ที่เสพมันโดยไม่ถึงขั้นที่ทำให้มึนเมา แม้ว่าจะเสพจำนวนมากก็ตาม แต่อย่างน้อยมันทำให้ผู้เสพรู้สึกเซื่องซึมหรืออ่อนเปลี้ย และสิ่งใดก็ตามที่ส่งผลทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่สามารถที่จะอนุญาตให้บริโภคได้ เนื่องจากมีรายงานจากอุมมุสะลามะฮ์(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาเธอ)กล่าวว่าท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ได้ห้ามทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาหรือทำให้เกิดความเฉื่อยชา รายงานโดย อบูดาวุดในสุนันของท่าน(3686) อิมามอะหมัดในอัลมุสนัด(26634) อิมามบัยฮะกีย์ในสุนันอัลกุบรอ(17399)และอัลหาฟิซ อัลอิรอกิกล่าวว่าสายรายงานนั้นถูกต้อง อ้างจาก ฟัยฎ์ อัลเกาะดีรฺ(6/338)
อัลค็อฏเฏาะบีย์(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน)กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนหนึ่งอ่อนเปลี้ยหรือเครื่องดื่มใด้ก็ตามที่ทำให้เกิดความอ่อนเปลี้ยและเฉื่อยชาของอวัยวะของร่างกาย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสิ่งมึนเมา ย่อมถูกห้ามมิให้ดื่มด้วยเกรงว่ามันจะนำไปสู่การมึนเมา (มะอาลิม อัสสุนัน 4/267)
.
สำหรับหะดีษนี้ศึกษาคำอธิบายเพิ่มเติมได้ใน เอานุลมะบูด และฮาชิยาต อิบนุอัลก็อยยิม(10/91)
.
สำหรับมุมมองของผู้ตั้งคำถามที่เห็นว่ายาเหล่านี้"มีผลดีอยู่บ้าง"นั้น ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงกฎชะรีอะฮ์ได้แม้เพียงเล็กน้อย แม้เราจะยอมรับว่านี้เป็นความจริง เหล้าซึ่งเป็นแม่แห่งความชั่วร้ายทั้งหลายในนั้นก็มีประโยชน์อยู่บ้าง อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ตรัสไว้ในซูเราะห์อัลบะเกาะเราฮ์ อายะฮ์ที่ 219 ว่า
.
“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน”
.
ดังนั้นพระองค์ทรงยืนยันว่ามันมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ตามการห้ามมันเป็นสิ่งทีต้องเน้นย้ำอย่างหนักแน่น เพราะอันตรายและผลเสียของมันมีมากกว่าประโยชน์ของมันเสียอีก
.
อิบนุกะษีร์(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน)กล่าวว่า อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่กล่าวว่า “จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์” สำหรับบาปของมันนั้นมีผลต่อการยึดมั่นในศาสนา ส่วนประโยชน์นั้นเป็นเพียงประโยชน์ทางโลก เพราะอาจมีประโยชน์กับร่างกายอยู่บ้างโดยช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับถ่ายของเสีย ช่วยให้ตื่นตัวและทำให้รื่นเริง ดังที่ฮัสซาน บินษาบิตกล่าวไว้ก่อนเข้ารับอิสลามว่า “เราดื่มมันและมันทำให้เรากลายเป็นกษัตริย์และสิงห์โตผู้ไม่กลัวการเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู”
.
แต่ประโยชน์ของมันไม่อาจเทียบได้กับอันตรายและผลร้ายที่จะตามมา เพราะมันส่งผลทั้งต่อสติปัญญาและการยึดมั่นในศาสนา ดังนั้นอัลลอฮฺตรัสว่า “บาปของมันใหญ่กว่าประโยชน์ของมัน” อ้างจากอิบนุกาษีรฺ (1/579) และดู ตัฟสีรฺอัลกุรฏุบีย์(3/57)
.
ผู้รู้จากคณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยปัญหากล่าวไว้เกี่ยวกับการห้าม “อัลกอต”ว่า แม้มันจะมีประโยชน์อยู่บ้างหากบริโภคมัน แต่เนื่องจากผลร้ายของมันมีมากกว่าประโยชน์ของมัน พวกเขากล่าวว่า แม้เราจะคิดว่า อัลกอต จะมีประโยชน์อยู่บ้างแต่ความเสียหายที่ได้รับกลับมีมากกว่าหลายเท่า
.
สรุป
สิ่งที่กล่าวไว้ในคำถามเกี่ยวกับสารเหล่านี้ว่าไม่เป็นอันตรายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมันสารเป็นอันตราย ท่านสามารถหาคำตอบเกี่ยวกับโทษของมันได้ด้วยการปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญหรือในเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
.
นอกจากนั้นแล้วสารเสพติดเหล่านี้ยังส่งผลที่เสียหาย ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการมึนเมาหรือและอ่อนเปลี้ย ซึ่งทำให้พวกมันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม
.
อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
.
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้