ข้อแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย

63 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย

การส่งออกไปกลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี มูลค่าเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีมูลค่า การส่งออกรวม 7,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 5.4) ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) มูลค่า 1,272 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 0.68) โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วนร้อยละ 44.2) และซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 35.0) เป็นตลาดส่งออกหลัก หากมองไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย พบว่าแนวทางการส่งออกสินค้าอาหารไปยังซาอุดีอาระเบียมีขั้นตอนที่สำคัญหลายประการ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดของซาอุดีอาระเบีย ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่

1.ตรวจสอบมาตรฐานและข้อกำหนดสินค้า
ผู้ส่งออกต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าอาหารตรงตามมาตรฐานที่กำหนดโดย SFDA (Saudi Food and Drug Authority) ซึ่งมีข้อกำหนดด้านคุณภาพ ความปลอดภัย โดยโรงงานหรือผู้ผลิตต้องมีมาตรฐานการผลิตที่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบของประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและการปฏิบัติตามมาตรฐานฮาลาล โดยสินค้าที่นำเข้าจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจในประเทศต้นทาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) เป็นต้น

2.การขอใบรับรองฮาลาล
สินค้าอาหารที่ส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่มีเนื้อสัตว์ จะต้องได้รับการรับรองฮาลาลจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผู้ประกอบการไทยสามารถขอใบรับรองฮาลาลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (CICOP)

3.การจดทะเบียนและการขออนุญาต
ผู้ส่งออกจะต้องจดทะเบียนและขออนุญาตจาก SFDA เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ผู้ส่งออกสามารถยื่นเอกสารที่จำเป็นเช่น รายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ข้อมูลการผลิต และผลการทดสอบความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง

4.ขอใบรับรองและการตรวจสอบโดยSASO
สินค้าที่ส่งออกต้องได้รับการรับรองจาก SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) ในด้านมาตรฐานและความปลอดภัย โดยสินค้าจะต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง หรือห้องปฏิบัติการที่มีการรับรองตามมาตรฐานของซาอุดีอาระเบีย

5.การดำเนินการทางโลจิสติกส์
ผู้ส่งออกต้องเตรียมการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือหรือทางอากาศ โดยต้องมีการเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ใบขนสินค้าขาออก ใบรับรองการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Certificate of Analysis) และใบรับรองฮาลาลที่ออกโดยหน่วยงานที่รับรองแล้ว

6.การผ่านพิธีการศุลกากร
หลังจากที่สินค้าถึงท่าเรือหรือสนามบินในซาอุดีอาระเบีย สินค้าจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะตรวจสอบเอกสารและความถูกต้องของสินค้า รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้นำเข้าตลาดซาอุดีอาระเบีย

7.การทำตลาดและกระจายสินค้า
เมื่อผ่านพิธีการนำเข้าแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมีแผนการกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการโฆษณาและการตลาดที่เข้มงวดในซาอุดีอาระเบีย

การดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารไปซาอุดีอาระเบียเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ
..........
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง
ที่มา :
• กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ https://www.ditp.go.th/ 
• SFDA (Saudi Food and Drug Authority) https://www.sfda.gov.sa/en 
• SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) https://www.my.gov.sa/.../04.../ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้