เศรษฐกิจฮาลาล

41 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เศรษฐกิจฮาลาล

เตรียมความพร้อมเพื่อส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังกลุ่มประเทศ GCC

เรียบเรียงโดย นางสาวซุนนูรอัยน์ ซีเดะ
Miss. Zunnur-I Seedeh

          ตลาดการส่งออกสินค้าที่ไม่ควรมองข้ามและเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย คือ กลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ ประกอบด้วยประเทศ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน ถือเป็นหนึ่งในตลาดภูมิภาคตะวันออกกลางที่น่าลงทุน ซึ่งผนวกกับอัตราการส่งออกของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น จะไม่เน้นไปทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะเห็นได้จากในประเทศซาอุดิอาระเบียเริ่มส่งเสริมการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มที่จะมุ่งเน้นในการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น [1] ซึ่งประเทศเหล่านี้ในเรื่องการผลิตอาหารจะเน้นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร อุปโภคและบริโภค ซึ่งมีการนำเข้าสูงถึงมากกว่าร้อยละ 70 จึงเป็นโอกาสอันดีในการส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยอาหารที่ส่งออกมากที่สุด  5 อันดับในปี 2566 ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 2.54% ข้าว 1.81% ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป  1.43% อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็งกระป๋อง และแปรรูป 1.41% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 1.30% ความต้องการสินค้าในกลุ่มประเภทบริโภคของกลุ่มประเทศ GCC นั้น ถือได้ว่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของกลุ่มประเทศ อาทิ สินค้าทางการเกษตรและอาหารฮาลาลที่หลากหลาย ซึ่งอาจทำให้โอกาสของสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลมีมูลค่าสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ส่งออกของไทยที่มุ่งเน้นการขยายตลาดกับกลุ่มประเทศนี้ ต้องศึกษาถึงกฎระเบียบมาตรฐานอาหารรวมถึงมาตรฐานฮาลาล โดยในประเทศกลุ่ม GCC นั้นได้ก่อตั้ง สำนักงานมาตรฐานและมาตรวิทยา หรือที่เรียกกันว่า Standardization & Metrology Organization for G.C.C. (GSMO) โดยใช้กฎระเบียบและมาตรฐานร่วมกัน (Gulf Standard) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรมอีกด้วย [2]  ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการท่านใด สนใจอยากส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม GCC นั้นควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและสามารถส่งออกได้ต่อ

 

----

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2567). เศรษฐกิจตะวันออกกลาง สืบค้นวันที่ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.ditp.go.th/post/163373

[2] กรมการค้าต่างประเทศ (2023). ส่องโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมประเภทอาหารของไทยในตะวันออกกลาง สืบค้นวันที่ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.dft.go.th/th-th/NewsList/News-DFT/Description-News-DFT/ArticleId/25094/25094

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้